EJIP คืออะไร?

16 พฤษภาคม 2024

มีธุรกรรม EJIP หรือ Employee Joint Investment Program ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้างของบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัทจะหักเงินพนักงานทุกเดือน (เช่น 5% ของเงินเดือน) แล้วสมทบเพิ่ม (เช่นสมทบเท่ากับที่หัก) เพื่อนำไปซื้อหุ้นเดิมของบริษัทจากตลาดหลักทรัพย์ โดยลงทุนเป็นรายงวดสม่ำเสมอด้วยหลักการเฉลี่ยต้นทุน และเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ ซึ่งจะกำหนดรูปแบบและวิธีการไว้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มโครงการ ที่มักจะนำหุ้นเข้า port ของพนักงานแต่ละคน มีการกำหนด silent period ให้พนักงานต้องถือครองหุ้นระยะเวลาหนึ่ง (เช่น 3 ปี) และหากลาออกก่อน จะต้องจ่ายคืนเงินที่กิจการสมทบมาทั้งจำนวน

EJIP เป็นธุรกรรมที่ต้องอาศัยการตีความว่าเข้าเงื่อนไข TFRS 2 เรื่อง การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ หรือไม่? แล้วถ้าเข้า เราจะบันทึกบัญชีอย่างไร? ถ้าพี่น้องกำลังปวดหัวอยู่ก็ลองมาอ่านกัน

EJIP เป็นธุรกรรมที่กิจการจ่ายสมทบเงินให้กับพนักงานเพื่อไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่การออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับพนักงาน หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นธุรกรรม “การจ่ายเงินให้กับพนักงานไปซื้อหุ้น” ซึ่งคราวนี้ก็เลยงงๆ ว่ามันคือการจ่ายผลประโยชน์พนักงานตาม TAS 19 หรือ การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (Share Based Payment) ตาม TFRS 2 กันแน่?

ถ้ามาดู TFRS2 ย่อหน้า ข48.1 ระบุว่า “กิจการให้สิทธิแก่พนักงานที่จะได้รับตราสารทุนของกิจการ และอาจทำให้กิจการจำเป็นต้องซื้อหุ้นคืนจากบุคคลอื่นเพื่อให้เป็นไปตามภาระผูกพันต่อพนักงาน” จะถือเป็นธุรกรรมการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยตราสารทุนหรือการชำระด้วยเงินสดตามข้อกำหนดใน TFRS 2

ก็แปลว่าธุรกรรม EJIP เข้าเงื่อนไข Share Based Payment ตาม TFRS 2 นั่นเอง

แล้วประเด็นถัดมาก็คือ ธุรกรรม EJIP เป็น Share Based Payment ที่ชำระด้วยตราสารทุนหรือการชำระด้วยเงินสด?

TFRS2 ระบุว่า

“การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยเงินสด หมายถึง Share Based Payment โดยโอนเงินสดให้คู่สัญญาด้วยจำนวนเงินที่อิงกับราคาหรือมูลค่าตราสารทุนของกิจการ”

ในขณะที่

“การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยตราสารทุน หมายถึง Share Based Payment ที่กิจการออกตราสารทุนของกิจการไปแลก…”

จากการที่ EJIP เป็นการที่บริษัทให้เงินพนักงานเพื่อไปซื้อหุ้นทุนของบริษัทเองในตลาดหลักทรัพย์ เข้า portfolio ของพนักงานแต่ละคน โดยบริษัทไม่มีอำนาจควบคุม portfolio เหล่านั้น เต็มที่ก็แค่กำหนดให้ broker ล๊อคหุ้นไม่ให้ขายถ้ายังทำงานไม่ครบตามเงื่อนไข แสดงว่าบริษัทไม่มี control ในหุ้นที่ซื้อกลับมาจึงไม่ควรถือเป็น treasury stock ของบริษัท

แต่มันก็กึ่งๆ อยู่ดีนะครับว่าจะถือเป็นการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระรายการด้วยตราสารทุน หรือชำระด้วยเงินสดกันแน่? เราเลยอาจต้องมาตีความกันเพิ่ม โดย TFRS2.41-42 ระบุไว้แบบนี้

“กิจการต้องพิจารณาว่ามีภาระผูกพันในปัจจุบันที่จะต้องชำระเงินสดหรือไม่ หากมีก็ต้องบันทึกรายการเป็นการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยเงินสด”

ซึ่งธุรกรรม EJIP ที่กิจการต้องควักเงินจ่ายทำให้กิจการมีภาระผูกพันในปัจจุบันกับพนักงานที่ต้องชำระเงินสด และบริษัทไม่มี control ในหุ้นที่ซื้อมา ด้วยเหตุนี้ เราน่าจะสรุปได้ว่า EJIP ถือเป็น “การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยเงินสด”

แล้วกิจการที่ออก EJIP จะบันทึกบัญชีอย่างไร?

ย่อหน้า 30 ของ TFRS 2 ระบุว่า “สำหรับการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยเงินสด กิจการต้องวัดมูลค่าสินค้าหรือบริการที่ได้มาและหนี้สินที่เกิดขึ้นด้วยมูลค่ายุติธรรมของหนี้สิน และต้องวัดมูลค่ายุติธรรมของหนี้สินทุกวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน และวันที่มีการชำระจนกว่าจะชำระหนี้สินเสร็จสิ้น การเปลี่ยนแปลงของมูลค่ายุติธรรมให้รับรู้ใน P/L”

ซึ่งการที่บริษัทสมทบเงินให้พนักงานไปซื้อหุ้นนั้นจ่ายพร้อมเงินเดือนในแต่ละเดือนที่โดยปกติจะจ่ายให้หลังจากที่พนักงานทำงานให้ ด้วยเหตุนี้ “เงินสมทบที่บริษัทจ่ายถือเป็นการชำระหนี้เท่าที่มีอย่างครบถ้วน” เพราะหากพนักงานเกิดลาออกเดือนไหน บริษัทก็เลิกสมทบให้ตั้งแต่เดือนนั้น … การสมทบเงินจึงเป็นการจ่ายตามหลังค่อนข้างจะทันทีหลังจากที่พนักงานให้บริการ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเหมาะสมหากกิจการจะบันทึกเงินที่จ่ายสมทบในแต่ละเดือนเป็นค่าใช้จ่ายประจำงวด Share Based Payment ตาม TFRS 2

แล้วพี่น้องอาจสงสัยว่า “อ้าว… แล้วถ้าพนักงานลาออกก่อน 3 ปี เลยต้องคืนเงินที่บริษัทสมทบไปล่ะ?” ก็เป็นไปได้ครับ ถ้างั้นก็ง่ายๆ บริษัทก็อาจตั้งประมาณการ…จากความเป็นไปได้มากที่สุดเพื่อ reverse ค่าใช้จ่ายออกบางส่วน แล้วถ้าพนักงานไม่ลาออกแบบที่คิดก็ค่อยกลับรายการประมาณการทิ้ง

ตามตัวอย่างต่อไปนี้

บริษัทเอ จำกัด มหาชน จัดทำโครงการ EJIP โดยหักเงินพนักงาน 5% และบริษัทสมทบ 5% เพื่อซื้อหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทุกๆ วันที่หักเงินเดือน โดย broker จะนำหุ้นที่ซื้อได้กระจายเข้า port พนักงานตามสิทธิ์ ซึ่งพนักงานจะสามารถขายหุ้นนั้นได้ต่อเมื่อทำงานครบ 3 ปี แต่หากพนักงานลาออกก่อนการถือครองครบ 3 ปี จะต้องจ่ายเงินส่วนที่บริษัทสมทบคืนให้กับบริษัทเต็มจำนวนภายใน 15 วัน

สมมติว่าบริษัทเอ สมทบเงินให้กับพนักงานในเดือน กันยายน 2566 เท่ากับ 1.5 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีพนักงานประมาณ 10% ลาออกก่อนครบ 3 ปีตามหลักเกณฑ์ ให้บันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้อง

Dr. ค่าใช้จ่ายการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (P/L) 1.5 ล้านบาท

Cr. เงินสด 1.5 ล้านบาท

(บันทึกการจ่ายสมทบเพื่อซื้อหุ้นตามโครงการ EJIP)

Dr. ค่าใช้จ่ายการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์รอรับรู้ (A) 0.15 ล้านบาท

Cr. ค่าใช้จ่ายการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (P/L) 0.15 ล้านบาท

(บันทึกการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายส่วนที่คาดว่าพนักงานจะลาออกก่อน)

สรุปนะครับ หากกิจการต้องสมทบ EJIP เป็นเงินสดพร้อมกับเงินเดือนเพื่อตอบแทนบริการที่พนักงานทำให้แล้ว และไม่มีอำนาจควบคุมหุ้นที่ซื้อกลับมาตามโครงการ ก็จะถือเป็นการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยเงินสดซึ่งสามารถบันทึกง่ายๆ เป็นค่าใช้จ่ายประจำงวดเข้า P/L ตามเงินสดที่จ่ายได้เลย รวมทั้งไม่น่าจะไม่มีภาระผูกพันใดๆ ที่ต้องแสดงเป็นหนี้สินในงบดุลนะครับ

เรื่องนี้ไม่น่าจะออกข้อสอบ CPA แต่น่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องนักบัญชี Listed Co. นะครับ


Google+
Line