ออก Warrant จะบันทึกบัญชีอย่างไร?

16 พฤษภาคม 2024

ออก Warrant จะบันทึกบัญชีอย่างไร?


มีประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง แต่ขออธิบายสั้นๆ แบบนี้นะครับ

1. ถ้าออกเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการ จะถือเป็นธุรกรรมการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ตาม TFRS 2

2. ถ้าออกขายได้รับเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นเป็นสิ่งตอบแทนก็จะอยู่ตามขอบเขตของ TAS32 ซึ่งต้องประเมินก่อนว่าต้องจัดประเภทเป็นการออกตราสารหนี้หรือตราสารทุน โดยที่:

a. ถ้าจำนวนหุ้นที่จะออกให้ตามสิทธิ์แบบตายตัว และได้รับเงินตายตัว จะถือว่าเป็นตราสารทุน

b. แต่ถ้าจำนวนหุ้นที่ให้ตามสิทธิ์เป็นแบบไม่ตายตัว หรือไม่ได้รับเงินจำนวนตายตัว จะถือเป็นตราสารหนี้

มีตัวอย่างโจทย์ทั้งสามแบบ ดังนี้ครับ


แบบที่ 1



+++ ตัวอย่างการออก warrant ที่ถือเป็นการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ตาม TFRS 2 +++

สมมติว่ากิจการออก warrant เพื่อแลกกับค่าเสนอขายหุ้นสู่สาธารณชน (IPO) ซึ่งมีมูลค่ายุติธรรมของการให้บริการ 100,000 บาท โดยทุกๆ Warrant ให้สิทธิ์ผู้ถือเพื่อแลกซื้อหุ้นสามัญในจำนวนที่กำหนด ในราคาตายตัวและภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ ไม่สามารถแลกเป็นเงินได้

ธุรกรรมนี้ถือเป็นการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ตาม TFRS 2 ที่ออก warrant แลกกับการให้บริการ ซึงกิจการต้องบันทึกบัญชีดังนี้

วันออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์

dr. ส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญ - ต้นทุนการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ (EQ-) 100,000

cr. ทุน - ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ซื้อหุ้นสามัญ (EQ+) 100,000

บันทึกการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ฯ แลกกับค่าบริการ IPO

การวัดมูลค่าหลังรับรู้เริ่มแรก

เนื่องจาก Warrant ที่ออกถือเป็นตราสารทุนจึงไม่ต้องวัดมูลค่าใหม่ 


แบบที่ 2



+++ ตัวอย่างการออก warrant ที่ถือเป็นตราสารทุน +++

กิจการขายหุ้นเพิ่มทุนบวก warrant ให้กับนักลงทุนรายหนึ่งเป็นเงิน 1 ล้านบาท โดย warrant ดังกล่าวให้สิทธิ์ผู้ถือเพื่อแลกซื้อหุ้นสามัญในจำนวนที่กำหนด ในราคาตายตัวและภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ ไม่สามารถแลกเป็นเงินได้ (Fixed for Fixed requirement) การออก warrant ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการออกตราสารทุน สมมติว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญเท่ากับ 800,000 บาท จึงปันส่วนมูลค่าของ warrant (ตามวิธีส่วนที่เหลือ) เท่ากับ 200,000 บาท

ซึงกิจการต้องบันทึกบัญชีดังนี้

วันออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์

dr. เงินสด 1,000,000

cr. ทุน - หุ้นสามัญ (EQ+) 800,000

cr. ทุน - ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ซื้อหุ้นสามัญ (EQ+) 200,000

บันทึกการเพิ่มทุนพร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิ์

การวัดมูลค่าหลังรับรู้เริ่มแรก

เนื่องจาก Warrant ที่ออกถือเป็นตราสารทุนจึงไม่ต้องวัดมูลค่าใหม่


แบบที่ 3



+++ ตัวอย่างการออก warrant ที่ถือเป็นตราสารหนี้ +++

กิจการขายหุ้นเพิ่มทุนบวก warrant ให้กับนักลงทุนรายหนึ่งเป็นเงิน 1 ล้าน FCU โดย warrant ดังกล่าวให้สิทธิ์ผู้ถือเพื่อแลกซื้อหุ้นสามัญในจำนวนที่กำหนด ในราคา FCU ที่ตายตัวและภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ ไม่สามารถแลกเป็นเงินได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อแปลงค่าเป็นบาท อัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง THB กับ FCU ย่อมทำให้จำนวนเงิน THB ที่จะได้จากการใช้สิทธิ warrant ผันแปรไป ธุรกรรมนี้จึงถือเป็นการออกตราสารหนี้ (ไม่เข้าหลักเกณฑ์ Fixed for Fixed) สมมติว่ามูลค่ายุติธรรมของ Warrant ณ วันออกเท่ากับ 400,000 บาท

กิจการจะต้องบันทึกบัญชีดังนี้

วันออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์

dr. เงินสด 1,000,000

cr. หนี้สินทางการเงิน - ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (L+) 400,000

cr. ทุน - หุ้นสามัญ (EQ+) 600,000

บันทึกการเพิ่มทุนพร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิ์

การวัดมูลค่าหลังรับรู้เริ่มแรก (สมมติราคาหุ้นเพิ่มขึ้น)

dr. ค่าใช้จ่าย - การเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของหนี้สิน (Exp+) xx

cr. หนี้สินทางการเงิน - ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (L+) xx 

Google+
Line