15 มกราคม 2025
พี่น้องครับ วันนี้เรามาเรียนรู้ “TFRS 17 เรื่องสัญญาประกันภัย” กันโดยเรามาทำความเข้าใจกันว่าสัญญาแบบใดที่ถือเป็นสัญญาประกันภัยบ้าง
ตั้งต้นนะครับ TFRS 17 บังคับใช้กับ “ผู้รับประกัน (insurer)” ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริษัทประกันภัยเท่านั้น ถ้าเราทำสัญญาที่ทำให้ต้องรับโอนความเสี่ยงด้านการประกันภัยจากผู้อื่นมาก็ถือว่าสัญญานั้นเป็นสัญญาประกันภัยและเราก็ต้องปรับใช้ TFRS17 ด้วยเช่นเดียวกัน
โดย TFRS 17 คำจำกัดความของสัญญาประกันภัยไว้ดังนี้
“สัญญาประกันภัย คือสัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง (ผู้รับประกันภัย) ยอมรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยที่มีนัยสำคัญจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง (ผู้ถือกรมธรรม์) โดยตกลงจะชดเชยให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์หากเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอนที่เจาะจงไว้ (เหตุการณ์ที่เอาประกันภัย) ส่งผลเสียหายต่อผู้ถือกรมธรรม์”
ซึ่งหากสัญญาใดเข้าเงื่อนไขตามคำจำกัดความข้างต้นก็ถือเป็นสัญญาประกันภัยครับ โดยสไลด์แรกจะเป็น flowchart ที่ใช้ทำความเข้าใจว่าสัญญาใดเป็นสัญญาประกันภัยบ้าง
และเพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น พี่น้องลองดูสไลด์ที่สอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ service contract เช่นสัญญาซ่อมบำรุงลิฟต์ เครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีส่วนประกอบของสัญญาประกันภัยเพราะเข้านิยามที่กำหนดไว้ใน TFRS 17 นั่นเอง
ซึ่งไม่ว่าบริษัทใดก็ตามก็ต้องปรับใช้ TFRS 17 หากธุรกรรมที่บริษัทนั้นทำเข้าข่ายของสัญญาประกันภัยครับ
เครดิตเนื้อหาดีๆ ของ KPMG ตามลิงค์นี้
https://kpmg.com/.../insurance-contracts-non-insurers...
TFRS 17 ถือว่าเป็นมาตรฐานที่ไม่คุ้นเลยและเข้าใจยากพอสมควร ไว้ผมจะทำโพสต์ที่เข้าใจง่ายๆ เสริมความเข้าใจให้กับพี่น้องอีกนะครับ
จากย่อหน้าด้านบนเราพอจะบอกได้แล้วว่าธุรกรรมแบบไหนเข้าข่ายที่ต้องปรับใช้ TFRS 17 บ้าง ซึ่งจริงๆมันเยอะมากนะครับ แต่ถ้าต้องทำตาม TFRS 17 หมด กิจการก็คงไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่นนอกจากมาปวดหัวกับการจัดทำรายงานทางการเงิน
TFRS 17 ย่อหน้า 8 เลยกำหนดแนวทางสำหรับ “การให้บริการโดยมีค่าธรรมเนียมคงที่ (fixed fee service contract)” ที่แม้เป็นไปตามนิยามของสัญญาประกันภัย แต่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้บริการโดยมีค่าธรรมเนียมคงที่ ที่กิจการสามารถเลือกถือปฏิบัติตาม TFRS 15 ได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่เจาะจงไว้เท่านั้น โดยกิจการอาจเลือกถือปฏิบัติเป็นรายสัญญาก็ได้ ทั้งนี้เมื่อเลือกแล้วไม่สามารถยกเลิกได้
โดยเงื่อนไขเจาะจงที่ว่าคือ
1. กิจการไม่ได้สะท้อนการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าแต่ละรายในการกำหนดราคาของสัญญากับลูกค้ารายนั้น
2. สัญญาชดเชยให้ลูกค้าด้วยการให้บริการแทนการจ่ายเงินสดให้กับลูกค้า และ
3. ความเสี่ยงด้านการประกันภัยที่โอนตามสัญญาเกิดขึ้นจากการใช้บริการของลูกค้าเป็นหลักแทนที่จะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของต้นทุนการให้บริการนั้น
งง ใช่ไหมครับ? มาดูตัวอย่างประกอบจะเข้าใจมากขึ้น
……………………………….
ที่บ้านผมมีสัญญากำจัดปลวกซึ่งผู้ให้บริการจะมาฉีดป้องกันให้ทุกๆ เดือนแต่ถ้าเดือนไหนเจอปลวกก็เรียกให้บ่อยกว่านั้นได้ และถ้าสมมติปลวกกินบ้านเสียหาย ผู้ให้บริการก็ไม่ได้รับผิดชอบอะไร โดยคิดค่าบริการตายตัวเรียกเก็บครั้งเดียวเมื่อเริ่มสัญญา สมมติ 12,000 บาท โดยดูแลให้ 1 ปี
สัญญานี้ “เข้าข่าย fixed fee service contract ที่สามารถเลือกปรับใช้ TFRS 15 หรือ TFRS 17 ก็ได้ ตามการอธิบายในสไลด์ที่ 2
……………………………….
ส่วนสัญญา lift service contract ซึ่งโดยปกติผู้ให้บริการต้องรับผิดต่อบุคคลที่สามกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ตัวอย่างสัญญาของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งมีข้อความดังนี้
“ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับจ้าง รวมถึงผู้รับจ้างช่วง (ถ้ามี) ตามสัญญานี้หากผู้ว่าจ้างถูกเรียกร้องหรือฟ้องร้องหรือต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการว่าต่าง แก้ต่าง ให้แก่ผู้ว่าจ้าง โดยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง รวมทั้งผู้รับจ้างจะต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้นๆ ตลอดจนค่าใช้จ่ายใดๆ อันเกิดจากการถูกเรียกร้องหรือถูกฟ้องร้องให้แก่ผู้ว่าจ้างทันที”
แบบนี้ก็ถือว่ามีส่วนประกอบของสัญญาประกันภัยตาม TFRS17 เพราะต้องจ่ายชำระเป็นเงิน ไม่ใช่การให้บริการ ซึ่งอยู่นอกขอบเขตของ TFRS17.8 กิจการจะไม่สามารถเลือกใช้การรับรู้รายการตาม TFRS 15 ได้ ตามสไลด์ที่ 3
………………………………..
เครดิตเนื้อหาดัดแปลงจาก เอกสารเผยแพร่ของ Deloitte : A Closer Look IFRS 17 for Non-insurers